Month: June 2017

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำอย่าดื่มน้ำในบ่อน้ำสีดำที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจวิเคราะห์น้ำในบ่อน้ำสีดำที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส พบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ฟลูออไรด์ เหล็กสูงกว่าเกณฑ์ และพบซัลไฟด์เกินมาตรฐานน้ำทิ้ง จัดเป็นน้ำเสียที่ต้องผ่านการบำบัด หรือปรับปรุงคุณภาพน้ำตามมาตรฐานก่อนนำมาใช้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ดื่มหรือใช้น้ำบ่อสีดำเพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอาจทำให้เกิดโรคได้
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีมีข่าวในหนังสือพิมพ์ และออนไลน์ต่างๆที่เผยแพร่ข่าวชาวบ้าน ใน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส พบบ่อน้ำสีดำ อยู่บริเวณสวนยางพารา  มีการเผยแพร่ภาพชาวบ้านจำนวนมากนำมาดื่ม และชำระร่างกาย โดยเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิสิทธิ์ สามารถบรรเทาอาการบาดเจ็บและรักษาโรคผิวหนังได้ เพื่อเฝ้าระวังอันตรายต่อผู้บริโภค เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข อำเภอศรีสาคร และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำบ่อสีดำดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานน้ำดื่มและตรวจสอบตะกอนสีดำที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา เมื่อวันที่ 19 และ 24 เมษายน 2560 ทั้งนี้จากผลการทดสอบคุณภาพน้ำสีดำตามมาตรฐานน้ำบริโภค พบว่าไม่ได้มาตรฐานทั้งทางด้านเคมีและจุลชีววิทยา สาเหตุทางด้านเคมีเนื่องจากมีปริมาณสารฟลูออไรด์ และเหล็ก สูงกว่าเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานน้ำดื่มตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2524) ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) และ (ฉบับที่ 6)(พ.ศ. 2553) โดยเฉพาะฟลูออไรด์ และเหล็กสูงกว่าเกณฑ์ถึง 14 และ 43 เท่า ตามลำดับ ซึ่งฟลูออไรด์อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระดูก ทำให้เป็นโรคฟันตกกระฟันลาย การทำงานของไตและต่อมไร้ท่อผิดปกติ ส่วนเหล็กถึงแม้ไม่มีผลต่อสุขภาพมากนัก แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจจะสะสมในตับทำให้เกิดโรคได้  นอกจากนี้ยังไม่ได้มาตรฐานทางด้านจุลชีววิทยา เนื่องจากพบเชื้อโคลิฟอร์ม (MPN Coliforms) มากกว่า 23 ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร ซึ่งเกินเกณฑ์กำหนด และพบอีโคไลน์ (E. coli) และสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (S. aureus) ซึ่งเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินอาหาร ท้องเสีย และอาหารเป็นพิษ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับตะกอนสีดำเป็นสารกลุ่มซัลไฟด์ตรวจพบในปริมาณ 4.8 มิลลิกรัมต่อลิตร  ซึ่งคุณภาพน้ำบริโภคจะต้องไม่มีสารดังกล่าวอยู่เลย ดังนั้นจึงนำไปเทียบกับมาตรฐานน้ำทิ้งพบว่าเกินมาตรฐานถึง 4.8 เท่า อย่างไรก็ตาม จากผลการทดสอบนี้ชี้ให้เห็นว่าตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำสีดำไม่ได้มาตรฐาน โดยพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ และพบซัลไฟด์เกินมาตรฐานน้ำทิ้ง จึงจัดเป็นน้ำเสียที่ต้องผ่านการบำบัด หรือปรับปรุงคุณภาพน้ำตามมาตรฐานก่อนนำมาใช้ ประชาชนไม่ควรดื่มหรือใช้น้ำบ่อสีดำเพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดโรคได้
“สำหรับประเด็นที่ชาวบ้านเข้าใจว่าน้ำสีดำและใสได้เพราะเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น จริงๆแล้วเป็นปฏิกิริยาทางเคมี ถ้ามีอากาศน้อยหรืออกซิเจนต่ำจะทำให้น้ำเป็นสีดำเพราะมีตะกอนของสารประกอบเหล็กกับซัลไฟด์ แต่ถ้ามีอากาศหรือออกซิเจนสูงจะเกิดการสลายตัวเป็นซัลเฟอร์ และซัลเฟต ตะกอนสีดำจะหายไป น้ำจึงใสขึ้น”  นายแพทย์สุขุม กล่าวทิ้งท้าย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบยาแผนปัจจุบันปนปลอมในอาหาร

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลเฝ้าระวังการปนปลอมยาแผนปัจจุบันในอาหาร ระหว่างปี พ.ศ.2556-2559 พบว่ายังคงมีการนำยาแผนปัจจุบันหลายกลุ่มและหลายชนิดมาผสมในอาหาร ซึ่งจัดว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย อาจก่อให้เกิดอันตรายและอาจทำให้เสียชีวิตได้ แนะผู้บริโภคควรใช้วิจารณญาณ ในการเลือกซื้อ ไม่หลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หากมีอาการผิดปกติให้หยุดการรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ระหว่างปี พ.ศ.2556–2559 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และหน่วยงานต่างๆ ในการเฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร  จำนวน 6 กลุ่ม 14 ชนิดตัวยา ได้แก่ กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ซิลเดนาฟิล, ทาดาลาฟิล และวาร์เดนาฟิล) กลุ่มยาลดความอ้วน(เอฟีดรีน, ออลิสแตท, เฟนเทอร์มีน และไซบูทรามีน) กลุ่มยาลดความอยากอาหาร (เฟนฟลูรามีน) กลุ่มยาระบาย (ฟีนอล์ฟทาลีน) กลุ่มยาสเตียรอยด์ (เดกซาเมธาโซน และเพรดนิโซโลน) กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ (อัลปราโซแลม, ไดอะซีแพม และลอราซีแพม) ในตัวอย่างกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งสิ้น 1,603 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ยังคงตรวจพบการปนปลอมของยาแผนปัจจุบันเหล่านี้ ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาที่พบทั้งชนิดเดียวและพบร่วมกัน 2 ชนิด โดยยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ เช่น มีอาการหัวใจวาย  เส้นโลหิตในสมองแตก หัวใจเต้นผิดปกติ เลือดออกในสมองหรือปอด ความดันโลหิตสูง และเสียชีวิตเฉียบพลัน ไซบูทรามีนทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองแตก ส่วนออลิสแตทอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ไม่สามารถกลั้นอุจจาระและขาดสารอาหาร เป็นต้น ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพที่เหมาะสมควรทำด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์  ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร งดหวาน มัน เค็ม นอกจากนี้อาหารที่มีการปนปลอมยาแผนปัจจุบันจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากผู้บริโภคสนใจจะใช้อาหารเสริมดังกล่าว  จำเป็นต้องมีความรู้และใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ เลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้  มีคำรับรองจาก อย. และไม่หลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หากมีอาการผิดปกติให้หยุดรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
         อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มถึงผลการตรวจวิเคราะห์โดยละเอียด ดังนี้ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง จำนวน 462 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 130 ตัวอย่าง พบซิลเดนาฟิล 33 ตัวอย่าง  ทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 26.2) กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 344 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีน 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 13.7) กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ ตรวจวิเคระห์ 183 ตัวอย่าง พบลอราซีแพม 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0.5) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 1,034 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 287 ตัวอย่าง พบซิลเดนาฟิล 86 ตัวอย่าง ทาดาลาฟิล 6 ตัวอย่าง ซิลเดนาฟิลร่วมกับทาดาลาฟิล 24 ตัวอย่าง และซิลเดนาฟิลร่วมกับวาร์เดนาฟิล 7 ตัวอย่าง รวม 123 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 187 ตัวอย่าง พบออลิสแตท 22 ตัวอย่าง (ร้อยละ 11.8) และตรวจวิเคราะห์ 849 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีน 163 ตัวอย่าง (ร้อยละ 19.2) กลุ่มยาลดความอยากอาหาร ตรวจวิเคราะห์ 245 ตัวอย่าง พบเฟนฟลูรามีน 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0.4) กลุ่มยาระบาย พบฟีนอล์ฟทาลีน1 จาก 245 ตัวอย่าง  (ร้อยละ 0.4) กลุ่มยาสเตียรอยด์ ตรวจวิเคราะห์ 103 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 1.9) และมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจพบว่า มียาแผนปัจจุบัน 2 กลุ่ม จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไซบูทรามีนร่วมกับทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง และไซบูทรามีนร่วมกับฟีนอล์ฟทาลีน 2 ตัวอย่าง และยากลุ่มเดียวกัน 2 ชนิด ได้แก่ ไซบูทรามีนร่วมกับออลิสแตท 3 ตัวอย่าง  เครื่องดื่ม (เครื่องดื่มอื่นนอกเหนือจากกาแฟ ชา ชาสมุนไพร ตามพระราชบัญญัติอาหาร) เช่น โกโก้ผง เครื่องดื่มผงผสมคอลลาเจน เครื่องดื่มคลอโรฟิลล์ เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น จำนวน 66 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ตรวจวิเคราะห์ 41 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.6) และอาหารอื่นๆ ได้แก่ ชาสมุนไพร ข้าวกล้องงอก และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น สารให้กลิ่นรส น้ำตาลมอลโตส สารโคคิวเท็น เป็นต้น จำนวน 41 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 9 ตัวอย่าง พบออลิสแตท 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 11.1)

กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยอาหารช่วงเทศกาลกินเจ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังคุณภาพและปลอดภัยอาหารช่วงเทศกาลกินเจเป็นประจำมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารเจที่นิยมรับประทานอาหารประเภทผักดอง ได้แก่ ผักกาดดอง เกี๊ยมฉ่าย หัวไชโป้วและกานาฉ่าย อาหารเจทั่วไปที่ทำมาจากแป้งสาลีหรือบุก ได้แก่ หมี่กึงสำเร็จรูป ลูกชิ้นเจ ต่างๆ อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ที่ระบุว่าเป็นอาหารเจ เช่น ทอดมันเจ/ก้ามปูเทียมเจ/หอยจ้อเจ/ไส้กรอกจูเนียร์เจ/เต้าหู้ปลาสามเหลี่ยมเจ/ลูกชิ้นกุ้งเจ/ก้ามปูเจ/ลูกชิ้นเจ/เต้าหูและปลาเจ และผักที่นิยมบริโภคในช่วงเทศกาลกินเจ จากตลาดเยาวราชแล้วนำมาตรวจในห้องปฏิบัติการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า

1. อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบการใช้ผงกรอบ(สารบอร์แรกซ์) แต่พบDNAของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน คิดเป็นร้อยละ 66 ส่วนใหญ่เป็นตัวอย่างไม่มีฉลาก

2. ผักดอง ตรวจไม่พบกรดซาลิซิลิค ทุกตัวอย่าง แต่ตรวจพบวัตถุกันเสีย(กรดเบนโซอิค) เกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนดคิดเป็นร้อยละ 65 ปริมาณที่พบ 1,026-10,608 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยพบใน ผักกาดดอง/เกี๊ยมฉ่ายยำ(ร้อยละ 100) ไชโป้วฝอย (ร้อยละ 90) แต่ตัวอย่างที่พบว่ามีการใช้ปริมาณสูงสุด ได้แก่ กาน่าฉ่าย

3. การตรวจเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผัก มีการตรวจเฝ้าระวังตลอดทั้งปี สำหรับผักที่นิยมบริโภคช่วงเทศกาลกินเจ ที่ ได้แก่ คะน้า ผักกาดขาว แครอท ผักโขม กะหล่ำปลี หัวไชเท้า มะเขือเทศ เห็ดสด มะเขือเปราะ มะเขือยาว แตงกวา ผักบุ้ง ฯลฯ ตรวจพบการตกค้างเกินค่า MRL คิดเป็นร้อยละ 12

แนะการบริโภคอาหารช่วงเทศกาลกินเจ

กรดเบนโซอิคเป็นวัตถุกันเสียที่มีความเป็นพิษต่ำ ละลายได้ในน้ำและถูกทำลายได้ด้วยความร้อน แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอันตรายได้ สำหรับผู้ที่แพ้สารนี้แม้ได้รับปริมาณน้อยอาจจะแสดงอาการได้ เช่น เกิดผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ดังนั้นไม่ควรบริโภคครั้งละมากๆ

ส่วนการรับประทานอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคหรือผู้ปรุงอาหารควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่มั่นใจและอาหารต้องมีฉลากระบุ สถานที่ผลิต วันเดือนปี และเลขสาระบบอาหารที่ชัดเจน เพราะถ้าแหล่งผลิตไม่ได้มาตรฐานบางครั้งอาจมีส่วนประกอบ เช่น ไข่ นมหรือเนื้อสัตว์ปนเปื้อน และหลีกเลี่ยงการรับประทานหรือซื้ออาหารที่มีการแปรรูปและรสชาติที่เหมือนเนื้อสัตว์มากจนเกินไป

สำหรับผักสด/ผลไม้สดควรล้างน้ำให้สะอาดกินรับประทานหรือนำมาปรุงอาหารเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคและได้รับความสุขทั้งกายและใจ ตลอดช่วงเทศกาลบุญกินเจปีนี้

ข้อมูลจาก

สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

กรมวิทย์ฯ สุ่มตรวจน้ำปลาทั่วประเทศ พบน้ำปลาที่ไม่ได้มาตรฐานมีแนวโน้มลดลง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เฝ้าระวังคุณภาพน้ำปลาที่จำหน่ายและผลิตในประเทศ ในปี 2555-2558 พบไม่ได้มาตรฐานเฉลี่ยร้อยละ 36.57 สาเหตุส่วนใหญ่เนื่องจากปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดต่ำ และปริมาณกรดกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมดสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แนะผู้บริโภคควรเลือกซื้อน้ำปลา ที่มีลักษณะใส มีสีน้ำตาลทอง มี กลิ่น รสของน้ำปลา มีเครื่องหมาย อย. และระบุสถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุชัดเจน
นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังคุณภาพของน้ำปลาที่จำหน่ายและผลิตในประเทศ ในปี พ.ศ.2555 – 2558 ได้รวบรวมข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำปลาทั่วประเทศไทย จำแนกเป็น น้ำปลาแท้ 576 ตัวอย่าง น้ำปลาผสม 545 ตัวอย่าง รวม 1,121 ตัวอย่าง จากผู้ผลิต 245 ราย 422 ยี่ห้อ พบไม่ได้มาตรฐาน 410 ตัวอย่าง (ร้อยละ 36.57) โดยพบน้ำปลาแท้ไม่ได้มาตรฐาน 159 ตัวอย่าง (ร้อยละ 27.6) ส่วนน้ำปลาผสมไม่ได้มาตรฐาน 251 ตัวอย่าง (ร้อยละ 46.06) สาเหตุที่น้ำปลาไม่ได้มาตรฐานส่วนใหญ่เนื่องจากปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดต่ำ(ร้อยละ 56.10) และปริมาณกรดกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมดสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (ร้อยละ65.12) การเติมผงชูรสเพื่อนำมาแต่งกลิ่นรสของน้ำปลา อาจส่งผลต่อผู้บริโภคที่แพ้ผงชูรส ดังนั้นการกำหนดอัตราส่วนของปริมาณกรดกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมดก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะป้องกันมิให้ผู้ผลิตน้ำปลาใช้กากผงชูรสและผงชูรสมากเกินไป ส่วนสาเหตุที่ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดต่ำ อาจเนื่องจากขั้นตอนการหมักหรือขั้นตอนผสมน้ำปลามีการเจือจางมาก ในด้านความปลอดภัย พบมีการใช้วัตถุกันเสียชนิดกรดเบนโซอิกสูงเกินเกณฑ์กำหนด (ร้อยละ 10.9) เมื่อนำปริมาณสูงสุดที่ตรวจพบมาประเมินความปลอดภัยแล้ว ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค เนื่องจากน้ำปลาเป็นเครื่องปรุงรสที่มีความเค็มเป็นข้อจำกัด ดังนั้นปริมาณการบริโภคน้อย
ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตน้ำปลาที่ใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่ง ตามมาตรฐานประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่203 พ.ศ.2543 แบ่งน้ำปลาออกเป็น 3 ชนิด คือ น้ำปลาแท้ น้ำปลาที่ทำจากสัตว์อื่น และน้ำปลาผสม โดยกำหนดมาตรฐานปริมาณโปรตีนของน้ำปลาแท้และน้ำปลาที่ทำมาจากสัตว์อื่นให้มีปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 9 กรัมต่อลิตร และปริมาณกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมดต้องมีค่าระหว่าง 0.4 – 0.6 ส่วนน้ำปลาผสมกำหนดให้มีค่าไนโตรเจนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 4 กรัมต่อลิตร ปริมาณกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมด ต้องมีค่าระหว่าง 0.4 – 1.3 และกำหนดให้น้ำปลา มีโซเดียมคลอไรด์ไม่น้อยกว่า 200 กรัมต่อลิตร การใช้วัตถุกันเสีย คือ กรดเบนโซอิคและกรดซอร์บิคได้รวมกันไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

นายแพทย์พิเชฐ กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลการดำเนินงานเฝ้าระวังคุณภาพน้ำปลาในประเทศไทย ระยะแรกๆ ในปี 2555 พบว่า น้ำปลาไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก หลังจากนั้นในปี 2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำโครงการรณรงค์คุณภาพน้ำปลาและสื่อสารให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมีมาตรการติดตามและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำปลาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนาผู้ผลิตน้ำปลาให้ควบคุมกระบวนการผลิตน้ำปลาให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพน้ำปลาหลังการรณรงค์ในปี 2556 พบว่า คุณภาพของน้ำปลาที่ไม่ได้มาตรฐานมีแนวโน้มลดลง และเมื่อจำแนกแหล่งผลิตในจังหวัดตามเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (เขตสุขภาพที่ 1-13) พบตัวอย่างจากเขต13 คือ กรุงเทพมหานคร มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานมากที่สุด และยังพบว่าคุณภาพน้ำปลาจากแหล่งผลิตในเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งเป็นจังหวัดที่ผลิตน้ำปลาทางภาคใต้มีคุณภาพดีกว่าเขตอื่นๆ อาจเนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลจึงมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพ
“คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อน้ำปลา ได้แก่ 1.ให้สังเกตฉลากอาหารและต้องมีการขึ้นทะเบียน อย. โดยระบุอยู่บนฉลาก หรือได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ระบุอยู่บนฉลาก 2.ใสสะอาด มีสีน้ำตาลทอง มีกลิ่นหอมของปลา สีต้องไม่เข้มเกินไปและไม่มีตะกอน ในน้ำปลาแท้บางครั้งอาจพบผลึกใสๆ ตกอยู่ที่ ก้นขวด ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีตามธรรมชาติไม่ถือว่ามีอันตราย 3.ต้องมีตราสินค้าและบริษัทที่ผลิต 4.มีการระบุวันเดือนปีที่ผลิต และวันที่หมดอายุอย่างชัดเจน และ5.สำหรับผู้ที่แพ้ผงชูรสก็อาจต้องเลือกชนิดที่ไม่เติมผงชูรส ซึ่งน่าจะมีปริมาณผงชูรสต่ำกว่า แต่ควรระลึกไว้ว่าในน้ำปลาธรรมชาติเองก็มีสารที่มีโครงสร้างเหมือนผงชูรสในปริมาณหนึ่ง” นายแพทย์พิเชฐ กล่าวทิ้งท้าย

กรมวิทย์ฯ ดำเนินงานตามรอยพระบาท หาแนวทางแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนในเด็กไทย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินงานตามรอยพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงสนพระราชหฤทัยปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนเป็นอย่างมาก เฝ้าระวังภาวการณ์ขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ และทารกแรกเกิด โดยตรวจวัดระดับไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ และตรวจวัดระดับไทรอยด์สติมูเลติง ฮอร์โมน หรือทีเอสเอช จากเลือดทารก ที่มีอายุมากกว่า 2 วัน หากพบผิดปกติจะได้รีบรักษา เพราะหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 2 สัปดาห์ ทารกจะมีระดับไอคิวลดลง กว่าที่ควรจะเป็น และถ้าปล่อยทิ้งไว้นานจะกลายเป็นเด็กปัญญาอ่อนได้

กรมวิทย์ฯ ดำเนินงานตามรอยพระบาท หาแนวทางแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนในเด็กไทย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินงานตามรอยพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงสนพระราชหฤทัยปัญหาการขาดไอโอดีน ในเด็กไทย โดยมีกิจกรรมที่สนับสุนการแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น จัดทำโครงการเฝ้าระวังระดับไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดไอโอดีนในทุกจังหวัดของประเทศไทย การประยุกต์ใช้ระดับ TSH จากการตรวจ คัดกรองภาวะ Congenital Hypothyroidism ในกลุ่มทารกแรกเกิด อายุตั้งแต่ 48 ชั่วโมงขึ้นไปทั่วประเทศ มาประเมินภาวะการ ขาดสารไอโอดีน ทั้งนี้ไอโอดีนมีผลต่อพัฒนาการของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพราะมีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์สมอง ใยสมอง หากขาดไอโอดีน อาจทำให้การเจริญของสมอง และระบบประสาทไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้สติปัญญาด้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นได้

นายแพทย์สุขุม กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการนำผลการตรวจคัดกรองระดับ Thyroid Stimulating Hormone หรือ TSH ของทารกแรกเกิดทั่วประเทศมาประเมินระดับความรุนแรงของภาวการณ์ขาดสารไอโอดีนในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2546 -2552 พบว่า ภาวการณ์ขาดสารไอโอดีน ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยมีระดับไอคิว ที่ต่ำกว่าปกติ จึงเป็นที่มาของโครงการนวัตกรรมแก้ปัญหาโรคเอ๋อและภาวะขาดสารไอโอดีนในพื้นที่อย่างยั่งยืนในเขตพื้นที่อุดรธานี และหนองคาย ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมมือกับเครือข่ายสาธารณสุขและชุมชนในภาคอีสาน เป็นการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชน ทำการเพิ่มสารไอโอดีนในระบบ ห่วงโซ่อาหารและผลผลิตทางการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีน โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักและเลี้ยงไก่ไข่เสริมไอโอดีน โดยใช้วิธีการฉีดพ่นสารละลายโปรแตสเซียมไอโอเดทในผักท้องถิ่น เช่น ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้ง ผักกาดหอม คะน้า ต้นหอม กระเพรา สะระแหน่ โหระพา และเลี้ยงไก่ไข่ด้วยอาหารที่ผสมสารโปแตสเซียมไอโอเดทที่มีความเข้มข้นสูง จะทำให้ได้ไข่ไก่ที่มีไอโอดีน เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการแปรรูปปลาเป็นปลาร้าที่มีการเสริมไอโอดีน เพื่อนำมาบริโภคกันมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นผลพลอย ได้ตามมาก็คือ พฤติกรรมการบริโภคของคนในชุมชนเปลี่ยนไป หันมาบริโภคอาหารที่ปลูกเอง เลี้ยงเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีกิจกรรมที่อยู่ใน(ร่าง)แผนการดำเนินงานโครงการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน พ.ศ. 2560-2564 ได้แก่ ความร่วมมือการศึกษาวิจัยและการเฝ้าระวังต่างๆ โดยตรวจระดับไอโอดีนในเกลือเสริมไอโอดีน และ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จำหน่ายในประเทศ ด้วยวิธี ICM-MS ซึ่งเป็นวิธีอ้างอิงและมีความร่วมมือในการจัดทำแผนทดสอบความชำนาญการตรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะ

สธ.น้อมนำ“พระราชดำรัสในหลวง”เฝ้าระวังอาหารปลอดภัย ให้คนไทยสุขภาพดี

กระทรวงสาธารณสุข น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดทำโครงการอาหารปลอดภัย หรือ Food Safety เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่ ส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดี
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ความว่า “…ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง…” มาเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อส่งเสริมคนไทยให้มีสุขภาพดี โดยได้เฝ้าระวังอาหารปลอดภัยให้คนไทยทั้งประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์ของโครงการส่วนพระองค์ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ให้การสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เช่น นมโรงเรียนพร้อมดื่ม นมอัดเม็ด ไอศกรีม น้ำบริโภค สาหร่ายเกลียวทอง น้ำผึ้ง ตลาดจน น้ำใช้ในกระบวนการผลิต เป็นต้น

นอกจากนี้ยังจัดทำโครงการอาหารปลอดภัย หรือ Food Safety โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นมา ตามยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความเข้มแข็งในการกำกับดูแลให้อาหารปลอดภัย และยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ ตรวจรับรองอาหารสดที่จำหน่ายในตลาดสด แผงลอย ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และผู้ประกอบการทั่วไป รายใดที่ผลการตรวจคุณภาพอาหารผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดครบ 3 ครั้งแล้ว จะได้รับมอบป้ายสัญลักษณ์อาหารปลอดภัย (ป้ายทอง) พร้อมใบรับรองคุณภาพอาหาร ผลการดำเนินงานตั้งแต่ ปี 2546-2559 กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มอบป้ายสัญลักษณ์อาหารปลอดภัย ให้ร้านโกลเด้นเพลส ทั้ง 9 สาขา และมีการมอบป้ายสัญลักษณ์อาหารปลอดภัยให้แก่ผู้ประกอบการแล้วทั้งสิ้น จำนวน 156,554 ป้าย โดยยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า นอกจากการตรวจรับรองอาหารสดแล้วยังมีการฝึกอบรมการใช้ชุดทดสอบด้านอาหารให้กับ อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักเรียน ฯลฯ เพื่อสามารถนำไปเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารที่จำหน่ายในพื้นที่ของตนเอง นอกจากนั้นผู้ประกอบการยังสามารถนำชุดทดสอบอาหารตรวจวัตถุดิบก่อนปรุงประกอบอาหาร รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าตรวจคัดกรองวัตถุดิบก่อนจำหน่ายให้ผู้บริโภค เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการอาหารปลอดภัย สามารถยื่นใบสมัครได้ที่สำนักงานสาธารณสุข หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทร. 029510000 ต่อ 99566 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.dmsc.moph.go.th

กรมวิทย์ฯ ไขข้อข้องใจ หัวเชื้อน้ำพริกแมงดาใช้ปรุงอาหารได้ในปริมาณที่เหมาะสม

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ วัตถุแต่งกลิ่นแมงดานาหรือหัวเชื้อน้ำพริกแมงดา ซึ่งเป็นวัตถุแต่งกลิ่นสังเคราะห์ กลิ่นแมงดา ใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารได้ แต่ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลหรือตื่นตระหนกไปกับที่มีข่าวหัวเชื้อน้ำพริกแมงดานาทำให้โฟมละลาย ขอให้ตระหนักเรื่องการเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่ปลอดภัยมีคุณภาพ

กรมวิทย์ฯ ไขข้อข้องใจ หัวเชื้อน้ำพริกแมงดาใช้ปรุงอาหารได้ในปริมาณที่เหมาะสม

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กลิ่นของแมงดานาเป็นกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่มาจาก gland liquid เป็นฟีโนโมนเพศสำหรับดึงดูดตัวเมียในการผสมพันธุ์ที่ประกอบด้วยสารหลายชนิด สารที่มีกลิ่นหอมเฉพาะนี้จะมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ตัวผู้จะมีกลิ่นแรงกว่า กลิ่นนี้จะมีก็ต่อเมื่อแมงดานาโตเต็มวัยพร้อมที่จะผสมพันธุ์เท่านั้น นอกจากนี้แมงดานายังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วย โปรตีน 19.8 กรัม ไขมัน 8.3 กรัม แคลเซียม 43.5 มิลลิกรัม เหล็ก 13.0 มิลลิกรัมต่อแมงดา 100 กรัม ปัจจุบันอุตสาหกรรมทำน้ำพริกแมงดานั้นต้องการแมงดานาเป็นจำนวนมาก แต่แมงดานานั้นหายาก จึงมีการสังเคราะห์สารเลียนแบบฟีโนโมนเพศของแมงดา ซึ่งคนทั่วไปเรียกกันว่า “กลิ่นแมงดา” เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุแต่งกลิ่นอาหาร กลิ่นแมงดาประกอบด้วยสาร 4 ชนิด ได้แก่ โพรพีลินไกลคอล (propylene glycol) เอทิลอะซีเทต (ethyl acetate) เฮกซิลแอซีเทต (hexyl acetate) และไดเมทิลซัลไฟด์ (dimethyl sulfide) ซึ่งจากกรณีที่มีข่าวว่าหัวเชื้อน้ำพริกแมงดา ทำให้โฟมละลายได้นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหากใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลาก เพราะวัตถุแต่งกลิ่นแมงดานั้น ได้มาจากการผสมของสารสำคัญในกลุ่มสารอินทรีย์ที่ให้กลิ่นและรสหลายชนิดเข้าด้วยกัน เช่น สารเฮกซิล อะซิเทต (hexyl acetate) สารกลุ่มเอสเตอร์ (ester) ที่เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งมีคุณสมบัติทางเคมีสามารถใช้เป็นตัวทำละลาย เรซิ่น โพลิเมอร์ ไขมันหรือน้ำมันได้ จึงสามารถทำให้โฟมซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือสารกลุ่มโพลิเมอร์ละลายได้

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทยวัตถุแต่งกลิ่นแมงดาหรือหัวเชื้อน้ำพริกแมงดาจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 223) พ.ศ.2544 เรื่องวัตถุแต่งกลิ่นรส และมีคุณภาพเป็นไปตามข้อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน ซึ่งจัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตร แห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก (Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives : JECFA) และเป็นสารในบัญชีขององค์กรสากลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตสารให้กลิ่นรส (Flavor & Extract Manufacturers’ Association, FEMA) ดังนั้นวัตถุแต่งกลิ่นแมงดาหรือหัวเชื้อน้ำพริกแมงดาจึงเป็นสารที่ปลอดภัยสามารถใช้ปรุงอาหารได้ในปริมาณน้อย ควรระมัดระวังในการใช้ เพราะวัตถุแต่งกลิ่นแมงดาจะเป็นอันตรายหากกลืนกินโดยตรง หรือต่อเมื่อสัมผัสหรือสูดดม สารเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้นผู้บริโภคจึงควรใช้ให้เหมาะสม ใช้ปริมาณตามที่ระบุในฉลาก ไม่จำเป็นต้องกังวลหรือ ตื่นตระหนก

กรมวิทย์ฯ ปรับปรุงเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหารใหม่ ปี 2560

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความปลอดภัยอาหารในปัจจุบัน ผู้ประกอบการสามารถดาวน์โหลดเกณฑ์ดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีหน้าที่ในการให้บริการตรวจประเมินคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำหน่ายในประเทศเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค การตรวจประเมินคุณภาพอาหารและภาชนะสัมผัสอาหารที่ผ่านมา ใช้เกณฑ์คุณภาพตามประกาศกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2553 แต่เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร โดยมุ่งสุขภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และทันต่อบริบทปัจจุบัน สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ทบทวนและปรับปรุงเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหารขึ้นใหม่ เพื่อประโยชน์สาธารณะในการคุ้มครองผู้บริโภคและยกระดับกระบวนการผลิตอาหารให้ครอบคลุมและทันสมัย โดยพิจารณาจากข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และหน่วยงานอื่น การรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ รวมทั้งการสืบค้นจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์และเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง และได้ออกประกาศกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง เกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2560 ทั้งนี้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สามารถดูรายละเอียดเกณฑ์ดังกล่าว ได้ที่เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ www.dmsc.moph.go.th

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ในกระบวนการทบทวนและปรับปรุงประกาศนั้น มุ่งเน้นความถูกต้องตามหลักวิชาการ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โปร่งใสและเป็นธรรม โดยมีการตั้งคณะกรรมการทบทวนเกณฑ์และที่ปรึกษา ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านจุลชีววิทยาของอาหาร รวมถึงรวบรวมข้อคิดเห็นจากการประชุม การส่งหนังสือขอรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเกณฑ์ดังกล่าวจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้รับบริการ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยาในอาหารและวัสดุสัมผัสอาหารของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ข้อมูลทางวิชาการ มาตรฐานและข้อกำหนดของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ เกณฑ์คุณภาพฯฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560 นี้ ใช้สำหรับอาหาร น้ำ เครื่องดื่ม ภาชนะและมือผู้สัมผัสอาหาร ซึ่งไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการหรือท่านใดที่มีข้อสงสัยในเกณฑ์ดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 0 2951 0000 ต่อ 99608 ในเวลาราชการ

กรมวิทย์ฯ เผยผลตรวจน้ำปลาไทย ปลอดสารพิษโบทูลินัม และเชื้อคลอสตริเดียมโบทูลินัม

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สำรวจการปนเปื้อนสารพิษโบทูลินัม และเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม ในตัวอย่างน้ำปลาไทย 48 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ ไม่พบทั้งสารพิษโบทูลินัมและเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม ในน้ำปลาทุกตัวอย่าง

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าจากกรณีที่สหรัฐอเมริกาห้ามนำเข้าน้ำปลาจากประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2557 เนื่องจากไม่มีข้อมูลการตรวจสารพิษโบทูลินัมในน้ำปลาที่ผลิตในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อมูลค่าและสัดส่วนการตลาดของน้ำปลาไทยในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของอาหารไทย จากปัญหาดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร จึงได้สำรวจการปนเปื้อนสารพิษโบทูลินัม และเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม ในตัวอย่างน้ำปลาที่หน่วยงานต่างๆ และเอกชนนำส่งมาตรวจวิเคราะห์ และตัวอย่างน้ำปลาที่จำหน่ายในตลาดทั่วไปจำนวนรวม 48 ตัวอย่าง แยกเป็นน้ำปลาแท้ 28 ตัวอย่าง 21 เครื่องหมายการค้า จาก 18 แหล่งผลิตใน 12 จังหวัด และน้ำปลาผสม 20 ตัวอย่าง 18 เครื่องหมายการค้า จาก 14 แหล่งผลิต ใน 9 จังหวัด โดยการตรวจหาสารพิษโบทูลินัม ชนิด A, B, E และ F ใช้วิธี ELISA (Tetracore®, USA) และตรวจหาเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม โดยวิธีเพาะเชื้อ (US FDA BAM 2001, Chapter 17) ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ ไม่พบทั้งสารพิษโบทูลินัมและเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม
ในน้ำปลาทุกตัวอย่าง

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า เชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) เป็นแบคทีเรียที่พบได้ในดินและน้ำ ไม่ต้องการออกซิเจนในการเจริญเติบโต และสามารถสร้างสปอร์ที่ทนต่อความร้อน ทำให้สปอร์ยังคงหลงเหลืออยู่หากในการผลิตอาหารแปรรูปมีกระบวนการผลิตไม่ผ่านความร้อนหรือให้ความร้อนไม่เหมาะสม และหากอาหารนั้นอยู่ในภาวะที่เหมาะสมกับการเจริญของเชื้อ เช่น ไม่มีออกซิเจน มีค่าความเป็นกรด-ด่างสูงกว่า 4.6 มีส่วนผสมของเกลือแกงไม่เกิน 5-10% เก็บรักษาในอุณหภูมิปกติ และไม่เกิน 45-50 องศาเซลเซียส (ตัวอย่างเช่น อาหารกระป๋องชนิดที่มีความเป็นกรดต่ำ หน่อไม้ปี๊บที่ไม่ได้ปรับกรด อาหารหมัก หมูยอที่วางจำหน่ายโดยไม่แช่เย็น เป็นต้น) สปอร์จะเจริญเป็นตัวเชื้อ เพิ่มจำนวน และสร้างสารพิษโบทูลินัมในอาหารนั้นๆได้ โดยสารพิษชนิดนี้มีฤทธิ์ร้ายแรง หากร่างกายได้รับเพียง 0.5 ไมโครกรัม สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้ที่บริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษนี้จะมีอาการมองเห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นอัมพาต หายใจขัด และเสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว ปัจจุบันพบสารพิษโบทูลินัม 8 ชนิด คือ A, B, C1, C2, D, E, F และ G ชนิดที่มักพบก่อโรคในคน ได้แก่ ชนิด A, B, E และ F ส่วนชนิด C, D และ E ก่อโรคในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ สัตว์ปีก และปลา
“สารพิษโบทูลินัม และเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม เป็นอันตรายร้ายแรงกับมนุษย์ มีโอกาสปนเปื้อนในอาหารหากกระบวนการผลิตไม่ดี ข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษโบทูลินัม และเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัมในน้ำปลาที่ผลิตในประเทศไทยนี้ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าน้ำปลาไทยปลอดจากสารพิษโบทูลินัม และเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม และจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนให้น้ำปลาไทยสามารถรักษาและเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดสหรัฐอเมริกาไว้ได้ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ส่งมอบข้อมูลนี้ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป” นายแพทย์สุขุม กล่าวทิ้งท้าย

กรมวิทย์ฯเผยยังไม่มีผลการวิจัยยืนยันว่าอะลูมิเนียมทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างแน่ชัดและยังไม่มีผลงานวิจัยยืนยันว่าอะลูมิเนียมที่ปนเปื้อนในอาหาร ทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาการใช้งานภาชนะอะลูมิเนียมบรรจุอาหารพบว่าในสภาวะปกติที่อุณหภูมิห้องมีการละลายออกมาของอะลูมิเนียมน้อยมาก แต่จะพบในปริมาณสูงเมื่อสัมผัสกับสารละลายกรดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ดังนั้นหากผู้บริโภคกังวลควรหลีกเลี่ยงการบรรจุอาหารที่มีกรดและใช้งานที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากข่าวเผยแพร่ทางโลกโซเชียลเรื่องการใช้แผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ ปิ้งย่างอาหาร มีอันตรายมาก เพราะอลูมิเนียมเมื่อโดนความร้อนจะละลายเข้ากับอาหาร ทำให้แคลเซียมถูกทำลายไป จากนั้นความจำจะลดลงและสมองเสื่อม เป็นสาเหตุของอัลไซเมอร์ และเป็นการทำลายกระดูกโดยตรงนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอเตือนประชาชนว่าอย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับข่าวดังกล่าว เพราะปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ที่แน่ชัดได้ มีเพียงปัจจัยที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ อายุ พันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังไม่มีผลงานวิจัยที่พิสูจน์ แน่ชัดว่าอะลูมิเนียมทำให้เกิดโรคนี้จริงโดยทางองค์การระหว่างประเทศทั้ง WHOและ European food safety authority (EFSA) รายงานว่า อะลูมิเนียมเป็นสารพิษต่อระบบประสาทในผู้ป่วยโรคไตมีความเป็นไปได้ที่อาจจะทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) หรือโรคเกี่ยวกับระบบประสาท และ EFSA ไม่คิดว่าการได้รับอะลูมิเนียมจากอาหารจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

นายแพทย์สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มอบหมายให้สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ทำการตรวจวิเคราะห์การละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากภาชนะที่ทำด้วยโลหะอะลูมิเนียมมีภาชนะหุงต้ม จำนวน 22 ตัวอย่างและแผ่นเปลวอะลูมิเนียม 6 ตัวอย่าง โดยทำการทดสอบที่สภาวะสุดโต่งด้วยสารละลายกรดอะซิติกความเข้มข้นร้อยละ 4และร้อยละ 3 ตามลำดับ ที่อุณหภูมิ น้ำเดือด(100 องศาเซลเซียส) เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่ามีการละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากภาชนะหุงต้ม 20 ตัวอย่าง (ร้อยละ90) ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 11-953 มิลลิกรัม/ลิตร และพบการละลายออกมาจากแผ่นเปลวอะลูมิเนียมทั้ง 6 ตัวอย่าง(ร้อยละ100) ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 483.6-1032มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนการทดสอบถาดหลุมที่อุณหภูมิ22 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมงมีการละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากถาดหลุมทั้ง 6 ตัวอย่าง(ร้อยละ100) ปริมาณที่พบน้อยกว่ามาก ซึ่งพบอยู่ในช่วง 0.5-14.1 มิลลิกรัม/ลิตรและได้ศึกษาการละลายออกมาของอะลูมิเนียมลงสู่อาหาร 4 อย่าง คือ ข้าวสุก ผัดผัก ต้มยำ และยำวุ้นเส้น ที่ใส่ในถาดหลุมไว้เป็นเวลา 30 นาทีเพื่อเลียนแบบการรับประทานอาหารโดยใช้ถาดหลุม พบว่าการละลายออกมาของอะลูมิเนียมมีน้อยมากอยู่ในช่วง 0.047-0.928 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหารปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดการละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากภาชนะบรรจุอาหาร และยังไม่มีข้อกำหนดปริมาณอะลูมิเนียมที่มีในอาหาร นอกจากนี้การดูดซึมของอะลูมิเนียมจากอาหารเข้าสู่ร่างกายเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

 

“แผ่นเปลวอะลูมิเนียม หรืออะลูมิเนียม ฟอยล์ ที่ใช้เพื่อบรรจุอาหารหรือหุ้มห่ออาหารมี 3 ลักษณะ คือ แผ่นเปลวอะลูมิเนียมธรรมดา แผ่นเปลวอะลูมิเนียมที่มีการเคลือบด้วยสาร และแผ่นเปลวอะลูมิเนียมที่มีการเคลือบหรือประกบกับกระดาษหรือฟิล์มพลาสติก โดยสหภาพยุโรป (EU) และประเทศสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ใช้โลหะอะลูมิเนียมเป็นภาชนะบรรจุ หุ้มห่อ และสัมผัสอาหารได้ ผู้บริโภคก็สามารถใช้ได้ตามคำแนะนำที่กำหนดไว้” อธิบดีกรมวิทย์ฯ กล่าว

ข่าวกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560