กรมวิทย์ฯ ไขข้อข้องใจ หัวเชื้อน้ำพริกแมงดาใช้ปรุงอาหารได้ในปริมาณที่เหมาะสม

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ วัตถุแต่งกลิ่นแมงดานาหรือหัวเชื้อน้ำพริกแมงดา ซึ่งเป็นวัตถุแต่งกลิ่นสังเคราะห์ กลิ่นแมงดา ใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารได้ แต่ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลหรือตื่นตระหนกไปกับที่มีข่าวหัวเชื้อน้ำพริกแมงดานาทำให้โฟมละลาย ขอให้ตระหนักเรื่องการเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่ปลอดภัยมีคุณภาพ

กรมวิทย์ฯ ไขข้อข้องใจ หัวเชื้อน้ำพริกแมงดาใช้ปรุงอาหารได้ในปริมาณที่เหมาะสม

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กลิ่นของแมงดานาเป็นกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่มาจาก gland liquid เป็นฟีโนโมนเพศสำหรับดึงดูดตัวเมียในการผสมพันธุ์ที่ประกอบด้วยสารหลายชนิด สารที่มีกลิ่นหอมเฉพาะนี้จะมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ตัวผู้จะมีกลิ่นแรงกว่า กลิ่นนี้จะมีก็ต่อเมื่อแมงดานาโตเต็มวัยพร้อมที่จะผสมพันธุ์เท่านั้น นอกจากนี้แมงดานายังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วย โปรตีน 19.8 กรัม ไขมัน 8.3 กรัม แคลเซียม 43.5 มิลลิกรัม เหล็ก 13.0 มิลลิกรัมต่อแมงดา 100 กรัม ปัจจุบันอุตสาหกรรมทำน้ำพริกแมงดานั้นต้องการแมงดานาเป็นจำนวนมาก แต่แมงดานานั้นหายาก จึงมีการสังเคราะห์สารเลียนแบบฟีโนโมนเพศของแมงดา ซึ่งคนทั่วไปเรียกกันว่า “กลิ่นแมงดา” เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุแต่งกลิ่นอาหาร กลิ่นแมงดาประกอบด้วยสาร 4 ชนิด ได้แก่ โพรพีลินไกลคอล (propylene glycol) เอทิลอะซีเทต (ethyl acetate) เฮกซิลแอซีเทต (hexyl acetate) และไดเมทิลซัลไฟด์ (dimethyl sulfide) ซึ่งจากกรณีที่มีข่าวว่าหัวเชื้อน้ำพริกแมงดา ทำให้โฟมละลายได้นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหากใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลาก เพราะวัตถุแต่งกลิ่นแมงดานั้น ได้มาจากการผสมของสารสำคัญในกลุ่มสารอินทรีย์ที่ให้กลิ่นและรสหลายชนิดเข้าด้วยกัน เช่น สารเฮกซิล อะซิเทต (hexyl acetate) สารกลุ่มเอสเตอร์ (ester) ที่เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งมีคุณสมบัติทางเคมีสามารถใช้เป็นตัวทำละลาย เรซิ่น โพลิเมอร์ ไขมันหรือน้ำมันได้ จึงสามารถทำให้โฟมซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือสารกลุ่มโพลิเมอร์ละลายได้

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทยวัตถุแต่งกลิ่นแมงดาหรือหัวเชื้อน้ำพริกแมงดาจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 223) พ.ศ.2544 เรื่องวัตถุแต่งกลิ่นรส และมีคุณภาพเป็นไปตามข้อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน ซึ่งจัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตร แห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก (Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives : JECFA) และเป็นสารในบัญชีขององค์กรสากลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตสารให้กลิ่นรส (Flavor & Extract Manufacturers’ Association, FEMA) ดังนั้นวัตถุแต่งกลิ่นแมงดาหรือหัวเชื้อน้ำพริกแมงดาจึงเป็นสารที่ปลอดภัยสามารถใช้ปรุงอาหารได้ในปริมาณน้อย ควรระมัดระวังในการใช้ เพราะวัตถุแต่งกลิ่นแมงดาจะเป็นอันตรายหากกลืนกินโดยตรง หรือต่อเมื่อสัมผัสหรือสูดดม สารเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้นผู้บริโภคจึงควรใช้ให้เหมาะสม ใช้ปริมาณตามที่ระบุในฉลาก ไม่จำเป็นต้องกังวลหรือ ตื่นตระหนก