Day: 27/06/2017

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำอย่าดื่มน้ำในบ่อน้ำสีดำที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจวิเคราะห์น้ำในบ่อน้ำสีดำที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส พบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ฟลูออไรด์ เหล็กสูงกว่าเกณฑ์ และพบซัลไฟด์เกินมาตรฐานน้ำทิ้ง จัดเป็นน้ำเสียที่ต้องผ่านการบำบัด หรือปรับปรุงคุณภาพน้ำตามมาตรฐานก่อนนำมาใช้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ดื่มหรือใช้น้ำบ่อสีดำเพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอาจทำให้เกิดโรคได้
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีมีข่าวในหนังสือพิมพ์ และออนไลน์ต่างๆที่เผยแพร่ข่าวชาวบ้าน ใน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส พบบ่อน้ำสีดำ อยู่บริเวณสวนยางพารา  มีการเผยแพร่ภาพชาวบ้านจำนวนมากนำมาดื่ม และชำระร่างกาย โดยเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิสิทธิ์ สามารถบรรเทาอาการบาดเจ็บและรักษาโรคผิวหนังได้ เพื่อเฝ้าระวังอันตรายต่อผู้บริโภค เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข อำเภอศรีสาคร และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำบ่อสีดำดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานน้ำดื่มและตรวจสอบตะกอนสีดำที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา เมื่อวันที่ 19 และ 24 เมษายน 2560 ทั้งนี้จากผลการทดสอบคุณภาพน้ำสีดำตามมาตรฐานน้ำบริโภค พบว่าไม่ได้มาตรฐานทั้งทางด้านเคมีและจุลชีววิทยา สาเหตุทางด้านเคมีเนื่องจากมีปริมาณสารฟลูออไรด์ และเหล็ก สูงกว่าเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานน้ำดื่มตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2524) ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) และ (ฉบับที่ 6)(พ.ศ. 2553) โดยเฉพาะฟลูออไรด์ และเหล็กสูงกว่าเกณฑ์ถึง 14 และ 43 เท่า ตามลำดับ ซึ่งฟลูออไรด์อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระดูก ทำให้เป็นโรคฟันตกกระฟันลาย การทำงานของไตและต่อมไร้ท่อผิดปกติ ส่วนเหล็กถึงแม้ไม่มีผลต่อสุขภาพมากนัก แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจจะสะสมในตับทำให้เกิดโรคได้  นอกจากนี้ยังไม่ได้มาตรฐานทางด้านจุลชีววิทยา เนื่องจากพบเชื้อโคลิฟอร์ม (MPN Coliforms) มากกว่า 23 ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร ซึ่งเกินเกณฑ์กำหนด และพบอีโคไลน์ (E. coli) และสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (S. aureus) ซึ่งเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินอาหาร ท้องเสีย และอาหารเป็นพิษ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับตะกอนสีดำเป็นสารกลุ่มซัลไฟด์ตรวจพบในปริมาณ 4.8 มิลลิกรัมต่อลิตร  ซึ่งคุณภาพน้ำบริโภคจะต้องไม่มีสารดังกล่าวอยู่เลย ดังนั้นจึงนำไปเทียบกับมาตรฐานน้ำทิ้งพบว่าเกินมาตรฐานถึง 4.8 เท่า อย่างไรก็ตาม จากผลการทดสอบนี้ชี้ให้เห็นว่าตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำสีดำไม่ได้มาตรฐาน โดยพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ และพบซัลไฟด์เกินมาตรฐานน้ำทิ้ง จึงจัดเป็นน้ำเสียที่ต้องผ่านการบำบัด หรือปรับปรุงคุณภาพน้ำตามมาตรฐานก่อนนำมาใช้ ประชาชนไม่ควรดื่มหรือใช้น้ำบ่อสีดำเพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดโรคได้
“สำหรับประเด็นที่ชาวบ้านเข้าใจว่าน้ำสีดำและใสได้เพราะเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น จริงๆแล้วเป็นปฏิกิริยาทางเคมี ถ้ามีอากาศน้อยหรืออกซิเจนต่ำจะทำให้น้ำเป็นสีดำเพราะมีตะกอนของสารประกอบเหล็กกับซัลไฟด์ แต่ถ้ามีอากาศหรือออกซิเจนสูงจะเกิดการสลายตัวเป็นซัลเฟอร์ และซัลเฟต ตะกอนสีดำจะหายไป น้ำจึงใสขึ้น”  นายแพทย์สุขุม กล่าวทิ้งท้าย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบยาแผนปัจจุบันปนปลอมในอาหาร

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลเฝ้าระวังการปนปลอมยาแผนปัจจุบันในอาหาร ระหว่างปี พ.ศ.2556-2559 พบว่ายังคงมีการนำยาแผนปัจจุบันหลายกลุ่มและหลายชนิดมาผสมในอาหาร ซึ่งจัดว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย อาจก่อให้เกิดอันตรายและอาจทำให้เสียชีวิตได้ แนะผู้บริโภคควรใช้วิจารณญาณ ในการเลือกซื้อ ไม่หลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หากมีอาการผิดปกติให้หยุดการรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ระหว่างปี พ.ศ.2556–2559 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และหน่วยงานต่างๆ ในการเฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร  จำนวน 6 กลุ่ม 14 ชนิดตัวยา ได้แก่ กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ซิลเดนาฟิล, ทาดาลาฟิล และวาร์เดนาฟิล) กลุ่มยาลดความอ้วน(เอฟีดรีน, ออลิสแตท, เฟนเทอร์มีน และไซบูทรามีน) กลุ่มยาลดความอยากอาหาร (เฟนฟลูรามีน) กลุ่มยาระบาย (ฟีนอล์ฟทาลีน) กลุ่มยาสเตียรอยด์ (เดกซาเมธาโซน และเพรดนิโซโลน) กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ (อัลปราโซแลม, ไดอะซีแพม และลอราซีแพม) ในตัวอย่างกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งสิ้น 1,603 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ยังคงตรวจพบการปนปลอมของยาแผนปัจจุบันเหล่านี้ ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาที่พบทั้งชนิดเดียวและพบร่วมกัน 2 ชนิด โดยยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ เช่น มีอาการหัวใจวาย  เส้นโลหิตในสมองแตก หัวใจเต้นผิดปกติ เลือดออกในสมองหรือปอด ความดันโลหิตสูง และเสียชีวิตเฉียบพลัน ไซบูทรามีนทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองแตก ส่วนออลิสแตทอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ไม่สามารถกลั้นอุจจาระและขาดสารอาหาร เป็นต้น ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพที่เหมาะสมควรทำด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์  ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร งดหวาน มัน เค็ม นอกจากนี้อาหารที่มีการปนปลอมยาแผนปัจจุบันจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากผู้บริโภคสนใจจะใช้อาหารเสริมดังกล่าว  จำเป็นต้องมีความรู้และใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ เลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้  มีคำรับรองจาก อย. และไม่หลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หากมีอาการผิดปกติให้หยุดรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
         อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มถึงผลการตรวจวิเคราะห์โดยละเอียด ดังนี้ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง จำนวน 462 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 130 ตัวอย่าง พบซิลเดนาฟิล 33 ตัวอย่าง  ทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 26.2) กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 344 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีน 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 13.7) กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ ตรวจวิเคระห์ 183 ตัวอย่าง พบลอราซีแพม 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0.5) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 1,034 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 287 ตัวอย่าง พบซิลเดนาฟิล 86 ตัวอย่าง ทาดาลาฟิล 6 ตัวอย่าง ซิลเดนาฟิลร่วมกับทาดาลาฟิล 24 ตัวอย่าง และซิลเดนาฟิลร่วมกับวาร์เดนาฟิล 7 ตัวอย่าง รวม 123 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 187 ตัวอย่าง พบออลิสแตท 22 ตัวอย่าง (ร้อยละ 11.8) และตรวจวิเคราะห์ 849 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีน 163 ตัวอย่าง (ร้อยละ 19.2) กลุ่มยาลดความอยากอาหาร ตรวจวิเคราะห์ 245 ตัวอย่าง พบเฟนฟลูรามีน 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0.4) กลุ่มยาระบาย พบฟีนอล์ฟทาลีน1 จาก 245 ตัวอย่าง  (ร้อยละ 0.4) กลุ่มยาสเตียรอยด์ ตรวจวิเคราะห์ 103 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 1.9) และมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจพบว่า มียาแผนปัจจุบัน 2 กลุ่ม จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไซบูทรามีนร่วมกับทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง และไซบูทรามีนร่วมกับฟีนอล์ฟทาลีน 2 ตัวอย่าง และยากลุ่มเดียวกัน 2 ชนิด ได้แก่ ไซบูทรามีนร่วมกับออลิสแตท 3 ตัวอย่าง  เครื่องดื่ม (เครื่องดื่มอื่นนอกเหนือจากกาแฟ ชา ชาสมุนไพร ตามพระราชบัญญัติอาหาร) เช่น โกโก้ผง เครื่องดื่มผงผสมคอลลาเจน เครื่องดื่มคลอโรฟิลล์ เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น จำนวน 66 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ตรวจวิเคราะห์ 41 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.6) และอาหารอื่นๆ ได้แก่ ชาสมุนไพร ข้าวกล้องงอก และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น สารให้กลิ่นรส น้ำตาลมอลโตส สารโคคิวเท็น เป็นต้น จำนวน 41 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 9 ตัวอย่าง พบออลิสแตท 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 11.1)