Author: admin

กรมวิทย์ฯเผยยังไม่มีผลการวิจัยยืนยันว่าอะลูมิเนียมทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างแน่ชัดและยังไม่มีผลงานวิจัยยืนยันว่าอะลูมิเนียมที่ปนเปื้อนในอาหาร ทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาการใช้งานภาชนะอะลูมิเนียมบรรจุอาหารพบว่าในสภาวะปกติที่อุณหภูมิห้องมีการละลายออกมาของอะลูมิเนียมน้อยมาก แต่จะพบในปริมาณสูงเมื่อสัมผัสกับสารละลายกรดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ดังนั้นหากผู้บริโภคกังวลควรหลีกเลี่ยงการบรรจุอาหารที่มีกรดและใช้งานที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากข่าวเผยแพร่ทางโลกโซเชียลเรื่องการใช้แผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ ปิ้งย่างอาหาร มีอันตรายมาก เพราะอลูมิเนียมเมื่อโดนความร้อนจะละลายเข้ากับอาหาร ทำให้แคลเซียมถูกทำลายไป จากนั้นความจำจะลดลงและสมองเสื่อม เป็นสาเหตุของอัลไซเมอร์ และเป็นการทำลายกระดูกโดยตรงนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอเตือนประชาชนว่าอย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับข่าวดังกล่าว เพราะปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ที่แน่ชัดได้ มีเพียงปัจจัยที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ อายุ พันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังไม่มีผลงานวิจัยที่พิสูจน์ แน่ชัดว่าอะลูมิเนียมทำให้เกิดโรคนี้จริงโดยทางองค์การระหว่างประเทศทั้ง WHOและ European food safety authority (EFSA) รายงานว่า อะลูมิเนียมเป็นสารพิษต่อระบบประสาทในผู้ป่วยโรคไตมีความเป็นไปได้ที่อาจจะทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) หรือโรคเกี่ยวกับระบบประสาท และ EFSA ไม่คิดว่าการได้รับอะลูมิเนียมจากอาหารจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

นายแพทย์สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มอบหมายให้สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ทำการตรวจวิเคราะห์การละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากภาชนะที่ทำด้วยโลหะอะลูมิเนียมมีภาชนะหุงต้ม จำนวน 22 ตัวอย่างและแผ่นเปลวอะลูมิเนียม 6 ตัวอย่าง โดยทำการทดสอบที่สภาวะสุดโต่งด้วยสารละลายกรดอะซิติกความเข้มข้นร้อยละ 4และร้อยละ 3 ตามลำดับ ที่อุณหภูมิ น้ำเดือด(100 องศาเซลเซียส) เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่ามีการละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากภาชนะหุงต้ม 20 ตัวอย่าง (ร้อยละ90) ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 11-953 มิลลิกรัม/ลิตร และพบการละลายออกมาจากแผ่นเปลวอะลูมิเนียมทั้ง 6 ตัวอย่าง(ร้อยละ100) ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 483.6-1032มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนการทดสอบถาดหลุมที่อุณหภูมิ22 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมงมีการละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากถาดหลุมทั้ง 6 ตัวอย่าง(ร้อยละ100) ปริมาณที่พบน้อยกว่ามาก ซึ่งพบอยู่ในช่วง 0.5-14.1 มิลลิกรัม/ลิตรและได้ศึกษาการละลายออกมาของอะลูมิเนียมลงสู่อาหาร 4 อย่าง คือ ข้าวสุก ผัดผัก ต้มยำ และยำวุ้นเส้น ที่ใส่ในถาดหลุมไว้เป็นเวลา 30 นาทีเพื่อเลียนแบบการรับประทานอาหารโดยใช้ถาดหลุม พบว่าการละลายออกมาของอะลูมิเนียมมีน้อยมากอยู่ในช่วง 0.047-0.928 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหารปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดการละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากภาชนะบรรจุอาหาร และยังไม่มีข้อกำหนดปริมาณอะลูมิเนียมที่มีในอาหาร นอกจากนี้การดูดซึมของอะลูมิเนียมจากอาหารเข้าสู่ร่างกายเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

 

“แผ่นเปลวอะลูมิเนียม หรืออะลูมิเนียม ฟอยล์ ที่ใช้เพื่อบรรจุอาหารหรือหุ้มห่ออาหารมี 3 ลักษณะ คือ แผ่นเปลวอะลูมิเนียมธรรมดา แผ่นเปลวอะลูมิเนียมที่มีการเคลือบด้วยสาร และแผ่นเปลวอะลูมิเนียมที่มีการเคลือบหรือประกบกับกระดาษหรือฟิล์มพลาสติก โดยสหภาพยุโรป (EU) และประเทศสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ใช้โลหะอะลูมิเนียมเป็นภาชนะบรรจุ หุ้มห่อ และสัมผัสอาหารได้ ผู้บริโภคก็สามารถใช้ได้ตามคำแนะนำที่กำหนดไว้” อธิบดีกรมวิทย์ฯ กล่าว

ข่าวกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจน้ำผึ้งสีเขียว

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจน้ำผึ้งสีเขียวทางห้องปฏิบัติการ พบมีคุณภาพไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน มีสีสังเคราะห์เจือปน ยีสต์ ราเกินมาตรฐาน พร้อมแนะนำวิธีการเลือกซื้อน้ำผึ้งและการเก็บรักษา

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่าง น้ำผึ้งจากป่าในจังหวัดบุรีรัมย์ที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เดือนพฤษภาคม 2560 จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ตัวอย่างที่ 1 น้ำผึ้งสีเขียวและตัวอย่างที่ 2 น้ำผึ้งสีเหลืองได้รับจากผู้สื่อข่าว และตัวอย่างที่ 3 น้ำผึ้งสีเขียวได้จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ และมอบให้สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ตรวจวิเคราะห์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 211 พ.ศ.2543 เรื่อง น้ำผึ้ง (ซึ่งบังคับใช้กับน้ำผึ้งที่ผลิตเพื่อจำหน่าย โดยสถานที่ผลิต ที่เข้าลักษณะเป็นโรงงาน) และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 364 พ.ศ.2556 เรื่อง มาตรฐานอาหารด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค แต่เนื่องจากตัวอย่างที่ 1 น้ำผึ้งสีเหลือง และตัวอย่างที่ 2 น้ำผึ้งสีเขียวมีปริมาณน้อย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงเลือกตรวจเฉพาะรายการที่สำคัญ

ผลการตรวจวิเคราะห์น้ำผึ้งทั้ง 3 ตัวอย่าง พบว่า น้ำผึ้งทั้ง 3 ตัวอย่างดังกล่าวมีคุณภาพไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ด้านเคมี ตรวจพบ ค่าความชื้นมากกว่าค่ามาตรฐาน คือ เกินกว่าร้อยละ 21 ของน้ำหนัก และพบสีสังเคราะห์ในตัวอย่างน้ำผึ้งสีเขียว โดยมาตรฐานห้ามใช้สี ส่วนจุลชีววิทยา พบ ยีสต์และรา มากกว่าค่ามาตรฐานยีสต์และรา ซึ่งกำหนดไม่เกิน 10 cfu ต่อน้ำผึ้ง 1 กรัม

นอกจากนี้ผลการตรวจวิเคราะห์และลักษณะตัวอย่างของน้ำผึ้งที่ส่งตรวจวิเคราะห์ ยังพบว่า น้ำผึ้งมีความหนืดน้อยกว่าน้ำผึ้งปกติ แสดงว่าน้ำผึ้งถูกเจือจาง อันเป็นสาเหตุทำให้น้ำผึ้งมีความชื้นเกินมาตรฐาน และยังมีค่าไดแอสเตสแอกติวิตีต่ำกว่ามาตรฐาน และพบการเติมสีอินทรีย์สังเคราะห์ และพบยีสต์และราเกินเกณฑ์มาตรฐาน อันเป็นสาเหตุให้น้ำผึ้งเกิดการเน่าเสียง่าย

นายแพทย์สุขุม กล่าวต่ออีกว่า น้ำผึ้ง (honey)หมายถึง ของเหลวรสหวานซึ่งผึ้งผลิตขึ้นจากการดูดน้ำหวานที่มีอยู่ในเกสรดอกไม้หรือจากส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชที่ผึ้งนำมาสะสมไว้ในรวงผึ้ง ผ่านขั้นตอนทางธรรมชาติของผึ้ง โดยเอนไซม์จากตัวผึ้งจะทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลในน้ำหวานของดอกไม้หรือพืชนั้นๆให้เป็นน้ำตาลชนิดต่างๆ จนได้เป็นน้ำหวานที่มีความหอมหวาน น้ำผึ้งมีกลิ่น รส สีที่แตกต่างกันตามชนิดของพืช เช่น น้ำผึ้งจากดอกลำไย ดอกลิ้นจี่ เป็นต้น ลักษณะตามปกติของน้ำผึ้งจะเหนียวหนืด ข้นเป็นเนื้อเดียวกัน และใส ไม่ขุ่นทึบ มีสีตามธรรมชาติ ตั้งแต่สีเหลืองอ่อน ถึงสีน้ำตาลเข้ม ส่วนผสมของน้ำผึ้ง ประกอบด้วยน้ำตาลเชิงเดี่ยว ได้แก่ ฟรุกโตส และกลูโคสเป็นหลัก ประโยชน์ของน้ำผึ้ง นอกจากนำมาผสมในอาหารและเครื่องดื่มแล้ว และแม้แต่ตำรับยาโบราณ ก็มีการเติมน้ำผึ้ง เพื่อช่วยแต่งรส ลดความขม หรือใช้ปรุงยา เช่น นำมาผสมยาผง เพื่อปั้นเป็นลูกกลอน เป็นต้น หรือใช้ในผลิตภัณฑ์ เสริมความงาม เช่น ใช้พอกหน้าเพื่อช่วยบำรุงผิวหน้า เป็นต้น

คำแนะนำการเลือกซื้อน้ำผึ้ง ควรพิจารณาคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ 1.ความสะอาด คือ ไม่มีเศษละอองเกสร เศษตัวอ่อนหรือดักแด้ปะปนอยู่ 2.มีสีอ่อนใสตามธรรมชาติ ไม่แยกชั้น มีสีเดียวกลมกลืนไปทั้งหมด 3.มีความหนืดหรือมีความเข้มข้น และ4.ฉลากข้างขวด ควรมีรายละเอียดแสดงน้ำหนักสุทธิ เครื่องหมายการค้า วันที่ผลิต วันหมดอายุ สถานที่ผลิต ชื่อผู้ผลิต และเครื่องหมายรับรองคุณภาพจากหน่วยงานราชการที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ส่วนการเก็บรักษาน้ำผึ้ง แนะนำดังนี้ 1.ถ้าน้ำผึ้งที่มีความชื้นสูงควรบริโภค ให้หมดภายใน 1-2 เดือน 2.ควรเก็บน้ำผึ้งในที่เย็น และไม่โดนแสงแดด แต่ไม่ต้องเก็บในตู้เย็น 3.น้ำผึ้งที่เก็บไว้นานจะมีสีเข้ม เพราะปฏิกิริยา การสลายของน้ำตาลฟรุกโตส ยังสามารถนำมาบริโภคได้ แต่ไม่ควรเก็บนานเกินกว่า 2 ปี

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยสถานการณ์การใช้วัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยว

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลการตรวจพบวัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ถูกแชร์กันอย่างแพร่หลายในโลกโซเชียล เป็นข้อมูลเก่าจากงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อปี 2550 โดยตรวจพบ การใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน 34 ตัวอย่าง จากจำนวนทั้งหมด 92 ตัวอย่าง (ร้อยละ 36) โดยปริมาณที่พบสูงสุด 17,250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และจากผลการตรวจวิเคราะห์ล่าสุด ระหว่างปี 2555-2559 พบว่าแนวโน้มการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานลดลง ขอเตือนผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากวัตถุกันเสีย ได้แก่ กรดซอร์บิคและกรดเบนโซอิค มีความเป็นพิษน้อยมาก และเมื่อผ่านความร้อน โดยการต้ม ลวก หรือนึ่ง จะสลายตัว หากเข้าสู่ร่างกายจะถูกขับออก ทางปัสสาวะได้

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ข้อมูลการตรวจพบวัตถุกันเสีย ในเส้นก๋วยเตี๋ยวที่กำลังถูกแชร์กันอย่างแพร่หลายในโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊คหรือโปรแกรม แชทไลน์เป็นข้อมูลเก่าจากงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี 2550 โดยเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยของ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ที่ตรวจพบว่ามีการใช้วัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวเกินเกณฑ์ ที่มาตรฐานกำหนด และจากการนำเสนอข้อมูลงานวิจัยนี้ ในปี 2551 กระทรวงสาธารณสุข โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมดำเนินงานภายใต้โครงการก๋วยเตี๋ยวอนามัยขึ้น ซึ่งมีมาตรการที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ควบคุมเรื่องการใช้ปริมาณวัตถุกันเสียและสุขลักษณะการผลิตที่ดี (GMP) ส่งผลให้การใช้วัตถุกันเสียลดลง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ทำการติดตามผลการดำเนินงาน โดยทำการตรวจวิเคราะห์วัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวโดยวิธีทางห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555 – 2559 จากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 370 ตัวอย่าง ตรวจพบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนด 71 ตัวอย่าง (ร้อยละ 19.2) วัตถุกันเสียที่พบคือ กรดซอร์บิค ร้อยละ 3.1 และพบไม่เกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 102 – 414 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และกรดเบนโซอิค พบเกินมาตรฐานกำหนดจำนวน 71 ตัวอย่าง (ร้อยละ 28.6) โดยปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 10.6 – 3,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยเฉพาะเส้นก๋วยจั๊บ เส้นใหญ่ และเส้นผัดไทชนิดแห้ง และเมื่อนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลจากงานวิจัยในปี 2550 พบว่า จำนวนตัวอย่างที่ตรวจพบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนดลดลงจาก ร้อยละ 36 เหลือเพียง ร้อยละ 19.2 และปริมาณวัตถุกันเสียที่ตรวจพบสูงสุดลดลง จาก 17,250 เหลือเพียง 3,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยที่ค่ามาตรฐานกำหนด ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547 กำหนดให้พบได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

นายแพทย์สุขุม กล่าวต่ออีกว่า กรดเบนโซอิคและกรดซอร์บิค เป็นวัตถุกันเสียที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโต ของเชื้อจุลินทรีย์ ยีสต์ และรา เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกขับออกทางปัสสาวะได้ โดยอ้างอิงข้อมูลของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตรและองค์การอนามัยโลก แห่งสหประชาชาติ (The Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives, JECFA) ซึ่งได้ประเมินและกำหนดค่าความปลอดภัย (ADI) แล้ว พบว่า มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์น้อยมาก และนอกจากนี้การบริโภคเส้นก๋วยเตี๋ยวจะต้องนำไปผ่านความร้อน ไม่ว่าจะเป็นการต้ม ลวก หรือนึ่ง ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดไม่ทนความร้อนสามารถสลายตัวได้เมื่อถูกความร้อน ทั้งนี้สถานการณ์การการตรวจพบวัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวที่จำหน่ายในกรุงเทพฯและปริมณฑลดีขึ้น กล่าวคือ พบวัตถุกันเสียเกินกว่า ที่กฎหมายกำหนดน้อยลงและปริมาณสูงสุดที่พบต่ำลงมาก ดังนั้นผู้บริโภคไม่ควรตื่นตระหนก การเลือกซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวมาทำอาหารเพื่อบริโภค ให้เลือกที่มีฉลากที่ระบุสถานที่ผลิต วันที่ผลิตหรือวันหมดอายุ และไม่ควรรับประทานอาหารชนิดเดียวซ้ำๆ และบริโภคในปริมาณที่มาก สำหรับผู้ประกอบการร้านก๋วยเตี๋ยวควรเลือกซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวจากแหล่ง ที่เชื่อถือได้ มีสถานที่ผลิตที่แน่นอน สามารถสอบย้อนกลับได้ สำหรับผู้ประกอบการโรงงานที่ผลิตต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีและได้มาตรฐานตามที่หน่วยงานรัฐกำหนด อย่างไรก็ตามเพื่อสร้าง ความมั่นใจให้ผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ.2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารประเภทเส้นที่คนไทยนิยมบริโภคทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันและ นำมาประเมินความเสี่ยง เพื่อรายงานผู้บริโภคต่อไป

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในผักสดและผลไม้สด

        กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ เฝ้าระวังความปลอดภัยของผักสด ผลไม้สด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยอาหารของประเทศ

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้ดำเนินงานเฝ้าระวังความปลอดภัยของผักสด ผลไม้สด ในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค รวมทั้งเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพความปลอดภัยอาหารของประเทศ โดยมีการดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ การเฝ้าระวังโดยใช้ชุดทดสอบ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จากการสุ่มตรวจผักผลไม้ปีละมากกว่า 3,000 ตัวอย่าง ซึ่งการตกค้างสารเคมีกำจัดแมลงในผักและผลไม้ที่เกินเกณฑ์ความปลอดภัยมีแนวโน้มลดลง ผลการสำรวจปี พ.ศ.2559 ตรวจพบเพียง ร้อยละ 0.46

ส่วนการเฝ้าระวังโดยการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเช่นกันโดยสถานการณ์การตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ที่ผลิตภายในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2559 มีการสุ่มตรวจผักและผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 800 ตัวอย่างต่อปี พบการตกค้างประมาณร้อยละ 10 และในปี พ.ศ.2558 ได้ศึกษาสถานการณ์การตกค้างในผักสดผลิตในประเทศที่มีข้อมูลการตกค้างสูง และคนไทยนิยมบริโภค 4 ชนิด ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง และตำลึง จำนวน 934 ตัวอย่าง เก็บจากทุกจังหวัดทั่วประเทศมีการตกค้างร้อยละ 22.3 แต่มีเพียงร้อยละ 1 ที่ตกค้างเกินค่ามาตรฐาน นอกจากนั้นได้ศึกษาสถานการณ์การตกค้างในน้ำผักและน้ำผลไม้ ได้แก่ น้ำส้ม น้ำฝรั่ง น้ำแครอท น้ำทับทิม น้ำใบบัวบก และน้ำผักผลไม้ผสม จำนวน 100 ตัวอย่าง โดยน้ำผักและน้ำผลไม้ที่คั้นมีการตกค้างในสัดส่วน ร้อยละ 18 ส่วนน้ำผักและผลไม้ที่อยู่ในภาชนะปิดสนิท พบร้อยละ 6 แต่ปริมาณการตกค้างดังกล่าวอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภค และปี พ.ศ.2559 ได้มีการสุ่มเก็บผักและผลไม้สดที่คนไทยนิยมบริโภคสูงจากตลาดค้าส่ง จาก 5 ภาคๆละ 2 จังหวัด ผลไม้สด ได้แก่ ส้ม มะม่วง ฝรั่ง เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย แก้วมังกร ชมพู่ รวม 99 ตัวอย่าง ตรวจพบสารตกค้างร้อยละ 51 จากการตรวจทั้งผลรวมเปลือก ซึ่งมีผลไม้ ที่สารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ร้อยละ 7 ชนิดสารเคมีที่มีอัตราตรวจพบสูง คือ คาร์เบนดาซิม และไซเปอร์มีทริน ส่วนผักสด ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง แตงกวา พริกขี้หนู ผักชี โหระพา และมะเขือเปราะ จำนวน 112 ตัวอย่าง มีสัดส่วนการตกค้างร้อยละ 50 และร้อยละ 5 ของผักสดดังกล่าวมีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งตรวจพบการตกค้างวัตถุอันตรายทางการเกษตรห้ามใช้ 2 ชนิด ได้แก่ เอนโดซัลแฟน และเมธามิโดฟอสในคะน้า และถั่วฝักยาว 3 ตัวอย่าง

นายแพทย์สุขุม กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาในช่วงปี พ.ศ. 2555-2557 ได้จัดทำโครงการพัฒนาตลาดกลางค้าส่งผัก/ผลไม้สด และเมกะสโตร์ (megastores) เพื่อส่งเสริมให้ตลาดค้าส่งทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 29 แห่ง แหล่งรวบรวมสินค้าของห้างค้าปลีก (modern trade) แหล่งรวบรวม ตัดแต่ง และคัดแยกผักและผลไม้ กลุ่มเกษตรกรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ให้มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบเบื้องต้นหรือระบบตรวจสอบสินค้าและผลผลิตของตนเอง และในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนมกราคม 2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เก็บตัวอย่างผักสด 12 ชนิด จำนวน 42 ตัวอย่าง และผลไม้สด 5 ชนิด จำนวน 18 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบสารตกค้างเพียง 3 ตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐานกำหนด รวมทั้งกำลังดำเนินการสำรวจคุณภาพและความปลอดภัยของส้ม ทั้งที่ปลูกภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนั้นได้ศึกษาประเมินความเสี่ยงการได้รับสารพิษตกค้าง จากการบริโภคอาหารของคนไทย ซึ่งเป็นการศึกษาในลักษณะองค์รวมที่มีความแม่นยำน่าเชื่อถือเนื่องจากอาศัยฐานข้อมูลจากการสำรวจปริมาณการบริโภคอาหารของประชากรไทย โดยสุ่มตัวอย่างอาหารทั้งที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช สัตว์ และน้ำ จาก 4 ภาคๆ ละ 2 จังหวัด และการเตรียมตัวอย่างอาหารเพื่อการวิเคราะห์นั้นจะเลียนแบบขั้นตอนการเตรียมอาหารในครัวเรือน เช่น ปอกเปลือก ต้ม ผัดเพื่อปรุงสุกที่สะท้อนสถานการณ์จริงของการบริโภคอาหารแต่ละชนิด ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2532- 2555 บ่งชี้ว่าคนไทยมีความปลอดภัยจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและยาสัตว์ตกค้าง รวมทั้งการปนเปื้อนของโลหะหนักจากการบริโภคอาหารประจำวัน และการดำเนินงานในปี 2560 ได้เพิ่มจำนวนชนิดอาหารที่สุ่มเก็บแต่ละจังหวัดจากเดิม 111 ชนิด เป็น 131 ชนิด เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการบริโภคที่เปลี่ยนไปของคนไทยในปัจจุบัน

“ผู้บริโภคสามารถบริโภคผักผลไม้ได้อย่างปลอดภัย โดยเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ และก่อนบริโภคล้างอย่างถูกวิธี เช่น การล้างด้วยน้ำไหลผ่าน การแกะกลีบ ใบ ตัดส่วนที่ไม่รับประทานออก หรือเคาะดินออกจากรากก่อนนำไปล้างด้วยความแรงของน้ำพอประมาณ คลี่ใบผักแล้วถูไปมาบนผิวใบของผัก ผลไม้นานประมาณ 2 นาที จะช่วยลดสารพิษลงได้ร้อยละ 25-65 การใช้ผงฟูหรือเบคกิ้งโซดาครึ่งช้อนโต๊ะผสมกับน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา 10 ลิตรแช่ทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ช่วยลดสารพิษได้ร้อยละ 90-95 การใช้น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดช่วยลดสารเคมีได้ร้อยละ 60-84 และช่วยลดไข่พยาธิได้อีกด้วย” นายแพทย์สุขุมกล่าว

กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวัง การปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในอาหารที่จำหน่ายในกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ.2559

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในอาหารที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ ผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบการปนเปื้อนของสารซีเซียม-137 ทุกตัวอย่าง
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า การเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่เมืองฟุกุชิมะ ทำให้สารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วสู่สิ่งแวดล้อม สารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมานี้มีหลายชนิด เช่น ไอโอดีน-131 ซีนอน-137 ซีเซียม-137 เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลของผู้บริโภคว่าจะมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมและในห่วงโซ่อาหารที่ก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพ ประเทศต่างๆที่นำเข้าสินค้าอาหารจากญี่ปุ่นจึงมีการเฝ้าระวังและออกมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ประเทศ
ซีเซียม-137 เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียมซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชั่น (fission products) เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น (nuclear fission) ที่ใช้เป็นตัวชี้วัดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีเมื่อเกิดการรั่ว เช่น อุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากมี % Yield สูงกว่า fission products ตัวอื่นๆ ทำให้ซีเซียมกระจายอยู่ทั้งในดิน น้ำ และเข้าสู่วงจรอาหาร อาหารที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ผัก ผลไม้ นม อาหารทะเล และอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร สารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะ และบางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ ตับ ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมหรือพันธุกรรม
ความผิดปกติจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณรังสีและระยะเวลาที่ร่างกายได้รับ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554 เรื่องมาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี กำหนดให้ “อาหารมีการปนเปื้อนซีเซียม-134 และซีเซียม-137 รวมกันไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม (Bq/kg) หรือ เบคเคอเรลต่อลิตร (Bq/l)”

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน พ.ศ. 2559 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการสุ่มตรวจเพื่อเฝ้าระวังสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในอาหารที่มีโอกาสปนเปื้อนทั้งอาหารในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยสุ่มตัวอย่างจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้า ในเขตกรุงเทพฯ แบ่งเป็นอาหารพร้อมปรุง 7 ตัวอย่าง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เส้นอุด้งสด ซุปเต้าเจี้ยว ซุปผงกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องแกงสำเร็จรูป อาหารแห้ง จำนวน 15 ตัวอย่าง เช่น ข้าวญี่ปุ่น สาหร่าย ใบชา เห็ดหอม ธัญพืชต่างๆอบกรอบและคอนเฟลก นมและผลิตภัณฑ์จากนม จำนวน 9 ตัวอย่าง เช่น นมถั่วเหลือง นมผงและโยเกิร์ต ผักและผลไม้สดนำเข้า จำนวน 13 ตัวอย่าง เช่น แอปเปิ้ล บร็อคโคลี่ เห็ด มันเทศและแครอท เครื่องปรุงรส จำนวน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ซอส และเต้าเจี้ยวบด ซึ่งเป็นตัวอย่างนำเข้าจากประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ เวียดนาม จีน มาเลเซีย เยอรมันนี อเมริกา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ และอาหารสดจากประเทศไทย จำนวน 11 ตัวอย่าง เช่น ปลาหมึก ปลา ปู กุ้ง รวมทั้งสิ้นจำนวน 57 ตัวอย่าง ผลตรวจวิเคราะห์ไม่พบการปนเปื้อนสารซีเซียม-137 ทุกตัวอย่าง
“แม้ว่าผลการตรวจเฝ้าระวังอาหารกลุ่มเสี่ยง ทั้งจากนำเข้า และอาหารในประเทศ ตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารกัมมันภาพรังสีซีเซียม-137 อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลไม่ว่าจะเป็นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ก็ได้มีการบูรณาการแผนเฝ้าระวังร่วมกันเป็นประจำ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภคอาหารให้กับผู้บริโภค และสนับสนุนงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเข้มแข็งและยั่งยืน แต่อย่างไรก็ดีผู้บริโภคควรเลือกซื้ออาหารจากร้านค้าที่เชื่อมั่นและอาหารมีสภาพเป็นธรรมชาติ ข้อสำคัญเพื่อสุขภาพที่ดีและแข็งแรง ผู้บริโภคควรบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีสุขลักษณะการบริโภคที่ดี “กินร้อน ช้อนกลางและล้างมือ” และออกกำลังสม่ำเสมอ” นายแพทย์สุขุม กล่าวทิ้งท้าย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบยาแผนปัจจุบันปนปลอมในอาหาร

 

          กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลเฝ้าระวังการปนปลอมยาแผนปัจจุบันในอาหาร ระหว่างปี พ.ศ.2556-2559 พบว่ายังคงมีการนำยาแผนปัจจุบันหลายกลุ่มและหลายชนิดมาผสมในอาหาร ซึ่งจัดว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย อาจก่อให้เกิดอันตรายและอาจทำให้เสียชีวิตได้ แนะผู้บริโภคควรใช้วิจารณญาณ ในการเลือกซื้อ ไม่หลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หากมีอาการผิดปกติให้หยุดการรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ระหว่างปี พ.ศ.2556–2559 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และหน่วยงานต่างๆ ในการเฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร จำนวน 6 กลุ่ม 14 ชนิดตัวยา ได้แก่ กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ซิลเดนาฟิล, ทาดาลาฟิล และวาร์เดนาฟิล) กลุ่มยาลดความอ้วน(เอฟีดรีน, ออลิสแตท, เฟนเทอร์มีน และไซบูทรามีน) กลุ่มยาลดความอยากอาหาร (เฟนฟลูรามีน) กลุ่มยาระบาย (ฟีนอล์ฟทาลีน) กลุ่มยาสเตียรอยด์ (เดกซาเมธาโซน และเพรดนิโซโลน) กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ (อัลปราโซแลม, ไดอะซีแพม และลอราซีแพม) ในตัวอย่างกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งสิ้น 1,603 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ยังคงตรวจพบการปนปลอมของยาแผนปัจจุบันเหล่านี้ ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาที่พบทั้งชนิดเดียวและพบร่วมกัน 2 ชนิด โดยยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ เช่น มีอาการหัวใจวาย เส้นโลหิตในสมองแตก หัวใจเต้นผิดปกติ เลือดออกในสมองหรือปอด ความดันโลหิตสูง และเสียชีวิตเฉียบพลัน ไซบูทรามีนทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองแตก ส่วนออลิสแตทอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ไม่สามารถกลั้นอุจจาระและขาดสารอาหาร เป็นต้น ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพที่เหมาะสมควรทำด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร งดหวาน มัน เค็ม นอกจากนี้อาหารที่มีการปนปลอมยาแผนปัจจุบันจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากผู้บริโภคสนใจจะใช้อาหารเสริมดังกล่าว จำเป็นต้องมีความรู้และใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ เลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีคำรับรองจาก อย. และไม่หลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หากมีอาการผิดปกติให้หยุดรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มถึงผลการตรวจวิเคราะห์โดยละเอียด ดังนี้ กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง จำนวน 462 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 130 ตัวอย่าง พบซิลเดนาฟิล 33 ตัวอย่าง ทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 26.2) กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 344 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีน 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 13.7) กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ ตรวจวิเคระห์ 183 ตัวอย่าง พบลอราซีแพม 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0.5) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 1,034 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 287 ตัวอย่าง พบซิลเดนาฟิล 86 ตัวอย่าง ทาดาลาฟิล 6 ตัวอย่าง ซิลเดนาฟิลร่วมกับทาดาลาฟิล 24 ตัวอย่าง และซิลเดนาฟิลร่วมกับวาร์เดนาฟิล 7 ตัวอย่าง รวม 123 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 187 ตัวอย่าง พบออลิสแตท 22 ตัวอย่าง (ร้อยละ 11.8) และตรวจวิเคราะห์ 849 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีน 163 ตัวอย่าง (ร้อยละ 19.2) กลุ่มยาลดความอยากอาหาร ตรวจวิเคราะห์ 245 ตัวอย่าง พบเฟนฟลูรามีน 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0.4) กลุ่มยาระบาย พบฟีนอล์ฟทาลีน1 จาก 245 ตัวอย่าง (ร้อยละ 0.4) กลุ่มยาสเตียรอยด์ ตรวจวิเคราะห์ 103 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 1.9) และมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจพบว่า มียาแผนปัจจุบัน 2 กลุ่ม จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไซบูทรามีนร่วมกับทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง และไซบูทรามีนร่วมกับฟีนอล์ฟทาลีน 2 ตัวอย่าง และยากลุ่มเดียวกัน 2 ชนิด ได้แก่ ไซบูทรามีนร่วมกับออลิสแตท 3 ตัวอย่าง เครื่องดื่ม (เครื่องดื่มอื่นนอกเหนือจากกาแฟ ชา ชาสมุนไพร ตามพระราชบัญญัติอาหาร) เช่น โกโก้ผง เครื่องดื่มผงผสมคอลลาเจน เครื่องดื่มคลอโรฟิลล์ เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น จำนวน 66 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ตรวจวิเคราะห์ 41 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.6) และอาหารอื่นๆ ได้แก่ ชาสมุนไพร ข้าวกล้องงอก และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น สารให้กลิ่นรส น้ำตาลมอลโตส สารโคคิวเท็น เป็นต้น จำนวน 41 ตัวอย่าง จำแนกเป็น กลุ่มยาลดความอ้วน ตรวจวิเคราะห์ 9 ตัวอย่าง พบออลิสแตท 1 ตัวอย่าง (ร้อยละ 11.1)

เผยผลตรวจคุณภาพน้ำประปาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ใช้ได้ปลอดภัย

          กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาที่ใช้ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยเก็บตัวอย่างน้ำประปาจากบ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่โรงผลิตน้ำ 4 แห่งของการประปานครหลวง ได้แก่ โรงผลิตน้ำบางเขน มหาสวัสดิ์ สามเสน และธนบุรี มาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ พบว่า มีคุณภาพและผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ประชาชนสามารถใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคได้อย่างปลอดภัย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในภาวะที่มีภัยแล้งประชาชนมักจะกังวลต่อคุณภาพน้ำประปา จากข้อมูลของกรมชลประทาน พบว่า ในช่วงสถานการณ์ภัยแล้ง พ.ศ.2559 เป็นปีที่มีภาวะภัยแล้งรุนแรงที่สุด ในรอบ 20 ปี ของประเทศไทยได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาที่ประชาชนใช้เพื่อการอุปโภค และบริโภคมีปริมาณน้อยลง รวมทั้งได้รับอิทธิพลน้ำทะเลหนุนจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำแม่กลองเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญสำหรับการผลิตน้ำประปาในเขตพื้นที่ภาคกลาง โดยการประปานครหลวงมีโรงผลิตน้ำ 4 แห่ง สำหรับผลิตน้ำประปา ได้แก่ โรงผลิตน้ำบางเขน โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ โรงผลิตน้ำสามเสน และโรงผลิตน้ำธนบุรี

         สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีภารกิจหลักในการคุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันปัญหาสาธารณสุข และสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน จึงได้ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาและค่าความเค็มในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี โดยเก็บตัวอย่างจากบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร รวม 16 เขตจาก 50 เขต จังหวัดนนทบุรี 4 อำเภอจาก 6 อำเภอ จังหวัดสมุทรปราการ 1 อำเภอจาก 6 อำเภอ (มีพื้นที่จ่ายน้ำ เพียงอำเภอเดียว) เก็บ 1 ตัวอย่างต่อเขตหรืออำเภอ รวม 2 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์และพฤษภาคม พ.ศ. 2559 รวมทั้งสิ้น 44 ตัวอย่าง ดังนี้ โรงผลิตน้ำบางเขน ได้แก่ เขตบางเขน สวนหลวง ลาดพร้าว ราษฎร์บูรณะ มีนบุรี สาทร บางกะปิ บึงกุ่ม ลาดกระบัง พระโขนง ดอนเมือง จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดสมุทรปราการ ได้แก่ อำเภอพระประแดง โรงผลิตน้ำธนบุรี ได้แก่ เขตบางกอกน้อย โรงผลิตน้ำสามเสน ได้แก่ เขตพญาไท พระนคร โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ได้แก่ เขตตลิ่งชัน บางขุนเทียน จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ อำเภอเมือง บางบัวทอง และบางใหญ่ นำตัวอย่างมาตรวจหาค่าความเค็ม ความเป็นกรด-ด่าง คลอไรด์ ปริมาณสารที่ละลายได้ทั้งหมด ปริมาณสารทั้งหมด คลอรีนตกค้าง โลหะ และจุลินทรีย์ ผลการตรวจวิเคราะห์ทั้ง 2 ช่วง พบทุกตัวอย่างผ่านมาตรฐานคุณภาพของการประปานครหลวง รวมทั้งผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ของกรมอนามัย สำหรับผลวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังระดับความเค็ม พบว่า ความเค็มมีค่าสูงสุดเท่ากับ 0.07 และ 0.21 กรัมต่อลิตร ในช่วงที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานค่าความเค็มของน้ำดิบ สำหรับผลิตน้ำประปาตามองค์การอนามัยโลกที่กำหนดไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร แม้ว่าผู้บริโภคจะรู้สึกว่าน้ำมีความเค็มในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนจึงมีค่าความเค็มสูงกว่าเดือนกุมภาพันธ์ประมาณ 3 เท่า

         นายแพทย์สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้น้ำประปาในบางพื้นที่มีความเค็มสูงขึ้นในบางช่วงเวลาแต่ผลตรวจวิเคราะห์แสดงว่าน้ำประปายังมีคุณภาพตรงตามมาตรฐานน้ำประปาทั้งของการประปานครหลวง และกรมอนามัย อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่เกิดปัญหาภัยแล้ง สำหรับกรณีที่น้ำประปาจากก๊อกตามบ้านเรือนอาจมีกลิ่นคลอรีนหลงเหลืออยู่ ประชาชนสามารถลดกลิ่นคลอรีน โดยการรองน้ำประปาใส่ภาชนะเปิดฝาและตั้งทิ้งไว้ ประมาณ 30 นาที หรืออาจนำไปต้มหรือกรองก่อนดื่มก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการบริโภคได้ และควรหมั่นตรวจสอบท่อน้ำประปาในบ้านเรือนอยู่เสมอว่ามีปัญหาการรั่วซึมหรือไม่ เพราะอาจทำให้ปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคปะปนมากับน้ำประปาและทำให้ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้