กรมวิทย์ฯ ดำเนินงานตามรอยพระบาท หาแนวทางแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนในเด็กไทย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินงานตามรอยพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงสนพระราชหฤทัยปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนเป็นอย่างมาก เฝ้าระวังภาวการณ์ขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ และทารกแรกเกิด โดยตรวจวัดระดับไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ และตรวจวัดระดับไทรอยด์สติมูเลติง ฮอร์โมน หรือทีเอสเอช จากเลือดทารก ที่มีอายุมากกว่า 2 วัน หากพบผิดปกติจะได้รีบรักษา เพราะหากไม่ได้รับการรักษาภายใน 2 สัปดาห์ ทารกจะมีระดับไอคิวลดลง กว่าที่ควรจะเป็น และถ้าปล่อยทิ้งไว้นานจะกลายเป็นเด็กปัญญาอ่อนได้

กรมวิทย์ฯ ดำเนินงานตามรอยพระบาท หาแนวทางแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนในเด็กไทย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินงานตามรอยพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงสนพระราชหฤทัยปัญหาการขาดไอโอดีน ในเด็กไทย โดยมีกิจกรรมที่สนับสุนการแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น จัดทำโครงการเฝ้าระวังระดับไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดไอโอดีนในทุกจังหวัดของประเทศไทย การประยุกต์ใช้ระดับ TSH จากการตรวจ คัดกรองภาวะ Congenital Hypothyroidism ในกลุ่มทารกแรกเกิด อายุตั้งแต่ 48 ชั่วโมงขึ้นไปทั่วประเทศ มาประเมินภาวะการ ขาดสารไอโอดีน ทั้งนี้ไอโอดีนมีผลต่อพัฒนาการของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพราะมีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์สมอง ใยสมอง หากขาดไอโอดีน อาจทำให้การเจริญของสมอง และระบบประสาทไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้สติปัญญาด้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นได้

นายแพทย์สุขุม กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการนำผลการตรวจคัดกรองระดับ Thyroid Stimulating Hormone หรือ TSH ของทารกแรกเกิดทั่วประเทศมาประเมินระดับความรุนแรงของภาวการณ์ขาดสารไอโอดีนในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2546 -2552 พบว่า ภาวการณ์ขาดสารไอโอดีน ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยมีระดับไอคิว ที่ต่ำกว่าปกติ จึงเป็นที่มาของโครงการนวัตกรรมแก้ปัญหาโรคเอ๋อและภาวะขาดสารไอโอดีนในพื้นที่อย่างยั่งยืนในเขตพื้นที่อุดรธานี และหนองคาย ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมมือกับเครือข่ายสาธารณสุขและชุมชนในภาคอีสาน เป็นการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชน ทำการเพิ่มสารไอโอดีนในระบบ ห่วงโซ่อาหารและผลผลิตทางการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีน โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักและเลี้ยงไก่ไข่เสริมไอโอดีน โดยใช้วิธีการฉีดพ่นสารละลายโปรแตสเซียมไอโอเดทในผักท้องถิ่น เช่น ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้ง ผักกาดหอม คะน้า ต้นหอม กระเพรา สะระแหน่ โหระพา และเลี้ยงไก่ไข่ด้วยอาหารที่ผสมสารโปแตสเซียมไอโอเดทที่มีความเข้มข้นสูง จะทำให้ได้ไข่ไก่ที่มีไอโอดีน เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการแปรรูปปลาเป็นปลาร้าที่มีการเสริมไอโอดีน เพื่อนำมาบริโภคกันมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นผลพลอย ได้ตามมาก็คือ พฤติกรรมการบริโภคของคนในชุมชนเปลี่ยนไป หันมาบริโภคอาหารที่ปลูกเอง เลี้ยงเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีกิจกรรมที่อยู่ใน(ร่าง)แผนการดำเนินงานโครงการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน พ.ศ. 2560-2564 ได้แก่ ความร่วมมือการศึกษาวิจัยและการเฝ้าระวังต่างๆ โดยตรวจระดับไอโอดีนในเกลือเสริมไอโอดีน และ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จำหน่ายในประเทศ ด้วยวิธี ICM-MS ซึ่งเป็นวิธีอ้างอิงและมีความร่วมมือในการจัดทำแผนทดสอบความชำนาญการตรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะ